top of page
Search

5 สิ่งต้องรู้ ก่อนลงเสาเอกตามหลักความเชื่อของคนไทย


หลายคนที่กำลังจะสร้างบ้าน ปลูกบ้าน สิ่งก่อสร้าง หรืออาคารต่าง ๆ เป็นของตนเองนั้น คงจะเคยได้ยินเรื่องพิธีการลงเสาเอกกันมาบ้าง แน่นอนว่าเป็นความเชื่อโบราณที่สืบทอดกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น คนให้ความสำคัญกับบ้านเรือนเป็นอย่างมาก การสร้างบ้านในสมัยก่อนนั้นก็เป็นบ้านไม้ เสาบ้านจึงเป็นเสาไม้ จึงต้องมีการทำพิธีเอาฤกษ์เอาชัยนำเสาหลักของบ้านลงสู่หลุมตามเวลาฤกษ์งามยามดี เพราะเชื่อว่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของคนในบ้าน เป็นสถานที่พักพิง ให้ความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุข ฉะนั้นในการสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้าง หลายคนจึงมีการทำพิธีลงเสาเอก ตามฤกษ์งามยามดีที่เราได้วางไว้ ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีวิธีการทำงานหรือขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือความเชื่อของแต่ละคน จะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย



เสาเอกคืออะไร?

เสาเอก คือเสาที่สำคัญที่สุดของบ้านและเป็นเสาต้นแรกของบ้านด้วยเช่นกัน ตามความเชื่อโบราณ จึงต้องมีการทำพิธีขึ้นเสาเอก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้บางคนมีความเชื่อว่าเป็นการบอกกล่าว ขอขมาต่อเจ้าที่เจ้าทางในบริเวณนั้น ทั้งนี้ยังมีความเชื่ออีกว่าจะทำให้การก่อสร้างบ้านหรืออาคารในช่วงนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี



วันมงคล

ลำดับถัดมาคือการหาวันมงคล โดยคนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าต้องเลือกวันให้ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้าน โดยมีการอ้างอิงจากการนับเดือนแบบไทยหรือแบบจันทรคติ บ้างก็เลือกจากวันอธิบดีหรือวันธงชัยของแต่ละเดือน แต่ถ้าหากใครไม่แน่ใจอาจจะให้พระหรือหมอดูช่วยเลือกให้ก็ได้ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เพียงวัน เดือน ปีเกิดของเจ้าของบ้านเท่านั้น โดยจะได้ผลลัพธ์คือ วัน เวลา และตำแหน่งของเสาเอกที่เหมาะสมของเจ้าของบ้านนั่นเอง



ฤกษ์ในการทำพิธี

ต้องขอเกริ่นก่อนว่าในสมัยโบราณนั้น การสร้างบ้านโดยส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างไม้ เสาบ้านจึงเป็นเสาไม้ จึงต้องมีการทำพิธี โดยยึดฤกษ์งามยามดีจากการที่เรานำเสาไม้ลงสู่หลุมที่ได้จัดเตรียมไว้ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน การก่อสร้างได้มีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย บ้านในปัจจุบันมีทั้งโครงสร้างที่เป็นคอนกรีต หรือโครงสร้างเหล็ก จึงทำพิธีกรรมต่างๆ ก็ถูกดัดแปลงไปตามความเหมาะสม และความสะดวกสบายของเจ้าบ้านในยุคนี้ จึงทำให้บางคนยึดหลักฤกษ์งามยามดีไม่เหมือนกัน บางคนยึดตามหลักเวลาที่ตอกหรือเจาะของเสาเข็มต้นแรก (เสาเอก) บางคนยึดเวลาที่ยกเสาเหล็กเสริม ตอนที่เทคอนกรีตฐานรากลงไป บ้างก็ยึดที่เวลาในการเทคอนกรีต ก็มี ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ที่ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมในของแต่ละบ้านนั่นเอง



เวลา

เวลาเป็นอีกสิ่งสำคัญที่เรายึดถือ เพราะเวลาคือเรื่องของเลขมงคล ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบหรือถูกโฉลกกับเจ้าของบ้านก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วคนไทยจะถือเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ เพราะออกเสียงพ้องกับคำว่า “ก้าว” ที่หมายถึงก้าวหน้า ก้าวไกล โดยในงานมงคลต่างๆ จะยึดเลข 9 เป็นหลักเวลานำมาใช้เป็นฤกษ์ยาม เช่น วันที่ 9 เดือน 9 เวลา 9.09 น.โดยเลขดังกล่าวนี้อาจะเป็นเลขที่เราได้ทำการดูฤกษ์ดูชัยมาแล้ว เป็นเวลาที่เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยในด้านต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย



การจัดเตรียมของมงคล

แน่นอนว่าในการทำพิธีนั้นเจ้าของบ้านจะต้องมีการจัดเตรียมของมงคลต่าง ๆ ในการทำพิธี โดยมีความเชื่อว่าเป็นการขอขมา ขออนุญาตเจ้าที่  เจ้าแม่ธรณี เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านและผู้อยู่อาศัย รวมถึงเครื่องเซ่นไหว้ประกอบพิธี ได้แก่ ข้าวสุก กล้วยน้ำว้าสุก ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนหมากพลู ถั่วเขียว ข้าวตอก และงาดิบ เป็นต้น นอกจากนี้ในการปลูกบ้านนั้นจะมีการเตรียมของไหว้ที่เสริมสิริมงคลไม่เหมือนกันอีกด้วย เช่น ปลูกเรือนปีชวด ต้องเตรียมไม้ราชพฤกษ์ปักเสามุมแรก ก่อนยกเสาเอกเพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นก็โปรยดอกไม้ 3 สีที่เป็นสิริมงคล (ดอกกุหลาบ ดอกรัก และดอกพุทธ) แล้วบวงสรวงด้วยกล้วยที่เป็นมิ่งขวัญปีเกิด จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขและทำมาหากินเจริญขึ้น เป็นต้น



ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหลักความเชื่อของคนไทย ที่ทางเข็มเหล็กได้รวบรวมมาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อเป็นความรู้และแนวทางในการทำพิธีลงฐานรากนั่นเอง ขอให้ทุกคนโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและตัดสินใจ อย่างไรก็ตามบ้านก็ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่ให้ความอบอุ่นใจแก่คนภายในบ้าน ฉะนั้นเลือกทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจทั้งคุณและคนในครอบครัวก็จะดีที่สุดครับ


หากท่านกำลังมองหาฐานรากที่ติดตั้งได้รวดเร็วตรงตามฤกษ์ ไม่มีแรงสั่นสะเทือน และไม่ส่งเสียงดัง ติดต่องานหรือสอบถามได้ที่ช่องทาง

- Chat website KEMREX

- โทร. 02-026-3140

- Facebook : @Kemrexfanpage

- Line@ : @KEMREX


コメント


bottom of page